ความเป็นมาและวัตถุประสงค์โครงการ


ชื่อโครงการ: "1 กระถาง 1 ตารางวา แปลงหญ้า-ดาดฟ้า เป็นนาข้าว"

ความเป็นมา:

หลังจากเมื่อปลายปี 2554 จนถึงตลอดปี 2555 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ โดยเราได้มีการประสานงานช่วยเหลือทั้งในระหว่างที่ประสบอุทกภัย และกลับมาสนับสนุนการปลูกข้าวด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ให้กับผู้ประสบภัยในระยะฟื้นฟู ด้วยเงินบริจาคจากทั้งผู้ช่วยบริจาคและการสนับสนุนหลักจากกลุ่มชาวต่างชาติ BangkokVanguard พบว่า โครงการประสบความสำเร็จในด้านปริมาณผลผลิต แต่กลับล้มเหลวในด้านสภาวะสังคมชุมชน ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อส่วนรวม และเราไม่แปลกใจที่เกษตรกรยังคงวนเวียนอยู่กับภาระหนี้สิน และความเชื่อ หรือวัฒนธรรมผิดๆ ที่ยังคงใช้สารเคมี

สิ่งที่สำคัญต่อมา คือ เกษตรกรไม่สามารถที่จะทำการตลาดได้เอง อาศัยแต่การผลิตข้าวส่งโรงสี เปรียบเสมือนพึ่งการส่งออก 100% ไปที่โรงสี ไม่สีข้าวกินเอง เพราะรู้ว่าใช้สารเคมีมาก เราจึงทำการตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ "ปันสุข" และสำหรับการจำหน่ายข้าวไรซ์เบอรี่ ก็ได้สร้างซับแบรนด์ "ข้าวปันสุข" ขึ้นมา และจะทำการตลาดเฉพาะข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เท่านั้น เพื่อหวังว่าจะเป็นทางออกให้เกษตรกร เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเห็นว่าสามารถแบ่งส่วนผลผลิตมาจำหน่ายเองได้บ้าง และเรายังสนับสนุนให้เกษตรกรสีข้าวกินเอง เพราะสบายใจแล้วที่ใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

และในโครงการเก่า เราเคยมีคุยกับเกษตรกรไว้ว่าให้ช่วยบริจาคข้าวไร่ละ 1 ถัง เพื่อนำข้าวเปลือกไปสีข้าว และนำข้าวที่สีแล้วไปบริจาคให้กับเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อเอดส์ ปรากฏว่าไม่สำเร็จ ดังนั้นในปีนี้ เราจึงลดระดับเชิงปริมาณของเกษตรกรที่มาร่วมโครงการลดลง หันมาทำโครงการเชิงคุณภาพ โดยยังคงรับเกษตรกรเข้าร่วมเช่นเดิม ตามโครงการ "ถุงยังชีพถาวร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพผู้ประสบภัย" ในการทำนาข้าวไรซ์เบอรี่ และทำโครงการด้านการตลาดชื่อ โครงการจำหน่าย "ข้าวปันสุข" เพื่อตั้งโรงสีข้าวชุมชน และหาแนวร่วมของคนเมืองที่ก็สามารถช่วยเหลือเกษตรกร และเด็กกำพร้าได้เช่นกัน มีชื่อโครงการเต็มว่า โครงการ "1 กระถาง 1 ตารางวา แปลงหญ้า-ดาดฟ้า เป็นนาข้าว" ตามวัตถุประสงค์ดังนี้

วัตถุประสงค์โครงการ:

  1. เพื่อหาแนวร่วมในการให้ความสำคัญการบริโภคข้าวปลอดสารพิษของคนเมือง เป็นการแสดงออกให้เกษตรกรทราบว่า ผู้บริโภคต้องการทานข้าว ที่ปลอดสารเคมี
  2. เพื่อให้ผู้บริโภค (คนเมือง) ได้มีความเข้าใจถึงความอดทน ความตั้งใจ ของเกษตรกรที่ต้องปลูกข้าวก่อนเก็บเกี่ยวถึง 4 เดือน อย่างมีอรรถรส
  3. เพื่อให้อาจเป็นการขยายฐานการบริโภคข้าวปลอดสารเคมีกับกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง
  4. เพื่อเป็นการสร้างกระแสสังคม เชื่อมโยงชนบท กับเมืองเข้าด้วยกัน ตามบริบทของคนเมืองที่สามารถทำได้ และหวังว่าเกษตรกรชนบทจะเข้าใจถึงความรู้สึก ความต้องการ ของคนเมืองที่ต้องการทานข้าวที่ปลอดภัย
  5. เพื่อนำข้าวเปลือกที่ได้ ไปสีข้าว แล้วร่วมกันบริจาคให้กับเด็กกำพร้า ที่ติดเชื้อเอดส์ (วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 นี้ ผมจะไปเยี่ยมบ้านรอเลนโซ ชลบุรี ครับ) เป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง
การดำเนินงาน:
  1. ศึกษารายละเอียดจากผู้รู้ ในการปลูกข้าวในกระถาง
  2. เตรียมการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วจัดให้เป็นชุดสำเร็จรูป พร้อมจัดทำคู่มือการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ในกระถาง
  3. แจกจ่ายอุปกรณ์ในการร่วมโครงการ
  4. ทดลองปลูกร่วมกัน (ผมเองก็จะปลูกด้วย ถึงจะเสี่ยงก็เถอะ เพราะที่บ้านมีแมวเหมียวด้วยครับ แต่จะกันพื้นที่ไว้ครับ)
  5. ติดต่อบริษัทที่มีอาคารสูง และบ้านเดี่ยวในหมู่บ้าน และคอนโดมีเนี่ยต่างๆ
  6. ประชาสัมพันธ์ออกไปทาง Social Media ต่างๆ
  7. เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว วางแผนทำกิจกรรมร่วมกันในการนำข้าวมารวมกัน และเดินทางไปรับ หรือส่งมาทางไปรษณีย์
  8. นำข้าวที่ได้ไปสีข้าว
  9. นำข้าวสารไปมอบให้เด็กกำพร้า ที่ติดเชื้อเอดส์ โดยจะมีการสอบถามจากสมาชิกที่ร่วมโครงการว่า ต้องการไปร่วมกิจกรรมด้วยหรือไม่
  10. ทำโครงการต่อเนื่องนำร่องจนถึงสิ้นปี และปีต่อๆ ไปครับ
ระยะเวลาดำเนินการ:
  • ระยะที่ 1: ตลอดปี 2556 เพื่อลองผิด ลองถูก และหาแนวทางสรุป
  • ระยะที่ 2: ตลอดชีพ ของชีวิตของผมที่ยังเหลืออยู่ครับ
ข้อกำหนดของการร่วมโครงการ:

สำหรับทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนี่ย ห้องชุด อพารต์เมนต์ต่างๆ:
  1. ลงทะเบียนร่วมโครงการที่ลิงก์นี้ครับ http://changetopaddy.blogspot.com/p/blog-page_10.html
  2. รอทางเราติดต่อกลับ เนื่องจากต้องวางแผนการจัดส่ง เนื่องจากผู้ดำเนินโครงการออกทุนเอง ในเรื่องการจัดส่งอุปกรณ์
  3. ควรร่วมโครงการ 1-5 กระถางก็พอ เนื่องจากมีพื้นที่น้อย
  4. ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยง ยกเว้นตั้งใจมากๆ และสามารถกันพื้นที่ได้ เนื่องจากพอข้าวออกรวง คงสนุกสนานที่แมวเหมียวจะมาเขี่ยเล่น และสนุนสนานสำหรับหมาน้อยที่จะมาขย้ำเล่นครับ
  5. ทำตามคู่มือ ที่มีระยะเวลากำหนดเอาไว้ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อปริมาณผลผลิตที่มาก และจะนำไปบริจาคให้เด็กกำพร้าติดเชื้อเอดส์ร่วมกัน
  6. หลังเก็บเกี่ยว รอการนัดหมายในรอบ 2 เดือน เพราะต้องเก็บข้าวเปลือกให้เมล็ดแข็งตัวก่อน
สำหรับบ้านเดี่ยว ที่มีพื้นที่วางกระถางเป็น 2 ลักษณะคือ วางกระจาย หรือเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถว:
      
     เหมือนกันทุกข้อ ยกเว้นข้อ 3. ควรร่วมโครงการระหว่าง 10-50 กรถาง โดยเราจะกำหนดไว้ว่า 1 ตารางวา = 25 กระถาง โดยวางห่างกันอย่างน้อย 50 เซนติเมตร

สำหรับดาดฟ้า บนอาคารพาณิชย์ หรือ บนอาคารสูงในเขต กทม.:

     เหมือนกันทุกข้อ ยกเว้นข้อ 3. ควรร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ตารางวาขึ้นไ แต่ไม่เกิน 4 ตารางวา เนื่องจากเกรงว่าจะเยอะเกินไป แล้วอาจจะมีปัญหาเรื่องการดูแล การให้น้ำ ที่จะมากเกินไป

ค่าใช้จ่าย:

เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงมือทำขึ้นมากันเอง ไม่มีภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่สนับสนุน จึงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ต่าง เช่น กระถาง ถาดรอง ดินผสม เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยอินทรีย์ ขวดพลาสติกบรรรจุปุ๋ยน้ำ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วประมาณ กระถางละ 45 บาท ดังนั้น 
  • หากผู้ร่วมโครงการต้องการปลูก 5 กระถาง ในวันที่นำอุปกรณ์ไปส่ง ต้องช่วยเรื่องต้นทุนกับทางโครงการเป็นเงิน 225 บาท
  • 10 กระถาง เป็นเงิน 450 บาท
  • 1 ตารางวา = 25 กระถาง เป็นเงิน 1,125 บาท เป็นต้น
โดยที่ทางเราจะออกค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เดินทางเอง ถือว่าทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันครับ สามารถดูต้นทุนการคิดค่าใช้จ่ายของ 1 กระถาง ได้ที่ลิงก์นี้ครับ http://changetopaddy.blogspot.com/2013/03/3.html


เมื่อท่านสนใจร่วมโครงการแล้ว 
ก็กดลิงก์ลงทะเบียนได้เลยนะครับ


หากกดลิงก์ไม่ได้ กรุณากดลิงก์ข้างล่างนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น